
หลายคนที่กดเข้ามาอ่านบทความนี้ คงรู้สึกแปลก ๆ ว่ามีด้วยเหรอ การไม่ขาดทุน ถือเป็นความผิดพลาด ซึ่งการไม่ขาดทุนควรจะเป็นความสำเร็จ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรจะเป็นการมีชีวิตอยู่ได้ในตลาดทุนด้วยความภาคภูมิใจ ท่ามกลางช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทย ที่ยากลำบากช่วงหนึ่ง เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นการลงทุนที่ยาก เพราะหุ้นไม่ไปไหน แตกต่างจากตลาดต่างประเทศ ทั้งประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว แต่เอาเถอะครับ เรามาคุยเรื่องของเราต่อ ว่าความผิดพลาดซ้ำ ๆ แบบไม่ขาดทุน มันคืออะไร และเราสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างว่า ได้ด้วยวิธีใด
พลาดได้หุ้นเด้ง
สำหรับเรื่องราวที่ผมจะเล่าในวันนี้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนมือใหม่ ที่มีประสบการณ์อยู่ในตลาดทุน ยังไม่ถึง 5 ปี โดยเหตุการณ์การพลาดหุ้นเด้งที่ผมกำลังพูดถึง ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการคัดกรองหุ้นที่ใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด แต่กลับเป็นขั้นตอนของการถือหุ้น เพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมาย
สำหรับสาเหตุของการไม่สามารถทนถือหุ้น จนสามารถได้หุ้นเด้ง หรือหุ้นที่ขึ้นมาในระดับ 100% ขึ้นไป ผมจะแยกเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ครับ

- ขาดความมั่นใจ ข้อนี้คือคุณสมบัติสำคัญของเพชฌฆาตในตลาดหุ้นเลยก็ว่าได้ เนื่องจากการคัดกรองหุ้น ที่ต้องวิเคราะห์จากปัจจัยเชิงปริมาณ ไม่ว่าจะเป็น งบการเงิน และอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ประกอบปัจจัยเชิงคุณภาพ ที่ต้องวิเคราะห์จากพื้นฐานธุรกิจ จนถึงวิสัยทัศน์และอุปนิสัยของผู้บริหาร จนสามารถประเมินมูลค่าออกมาในราคาที่เหมาะสม และเพื่อความมั่นใจ บางคนก็นำความรู้ทางเทคนิคอล มาประกอบในการหาจังหวะเข้าซื้อด้วย และพอตัดสินใจซื้อ ก็ไม่กล้าถือนาน เนื่องจากเป็นหุ้นที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม พอหุ้นขึ้นมาได้สักประมาณ 20% ก็ขาย สุดท้ายหุ้นก็ขึ้นไปเกิน 100%
- ความกลัวขาดทุน ข้อนี้เป็นกันทุกคนครับ เนื่องจากหุ้นที่เราคัดกรองมาได้ มักเป็นหุ้นขนาดกลางขนาดเล็ก ที่ไม่อยู่ในสายตาของกองทุน หรือนักลงทุนสถาบันดังนั้น ท่ามกลางถนนสายเปลี่ยว การจะเดินคนเดียว ก็กลัวโดนหมากัด ดังนั้น เลยไม่กล้าที่จะทุ่มสุดตัวหรือซื้อหุ้นด้วยเงินที่มากพอ

วิธีแก้สำหรับเรื่องนี้ คือ การหมั่นจดสถิติของความผิดพลาด และตัดความกังวลจากการลงทุนด้วยการลงทุนในจำนวนที่มากกว่าจำนวนเงินที่เราไม่เสียดายประมาณ 200-500% ยกตัวอย่างเช่น หากเราคิดว่าเงิน 10,000 เราไม่เสียดาย เพราะเรามีเงินหลายแสนบาท แต่การลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท แทบไม่ทำให้พอร์ตโดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงมาก ก็ลองเพิ่มเงินลงทุนเป็น 30,000-50,000 บาทดู แล้วรอ โดยไม่ต้องยุ่งกับมัน
เครดิตภาพ mgronline.com,rommantek.com และunlockmen.com
#ความผิดพลาดซ้ำ ๆ แบบไม่ขาดทุน #เทคนิคการลงทุน #ความกลัวขาดทุน