สวัสดีท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องของการใช้เงินทำงานทุกท่านครับ ความจริงบทความนี้ผมตั้งใจจะปูพื้นฐานทัศนคติของการใช้เงินที่คิดว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มีพื้นฐานบ้างหรือไม่มีพื้นฐานเลยก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก พออ่านจบบทความนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้เลย โดยไม่ต้องไปอ่านหนังสือเล่มหนา ๆ ครับ

ใช้เงินทำงานคืออะไร
โดยปกติแล้ว ตั้งแต่เราจำความได้ เราจะถูกส่งไปโรงเรียนตั้งแต่เล็ก ๆ แล้วก็เรียนมาเรื่อย จนกระทั่งชั้นมัธยมปลาย เราก็จะต้องเลือกใช่ไหมครับว่าเราจะเรียนอะไร เพื่อประกอบสัมมาอาชีพที่ชื่นชอบ หรือสัมมาอาชีพที่ให้ค่าตอบแทนสูง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ก็จะเลือกสัมมาอาชีพที่ได้รับการยอมรับจากในสังคมนั้น ๆ และมีค่าตอบแทนดี ๆ อยู่นั่นแหละ
ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริง บางคนมีงานที่ดี ค่าตอบแทนที่สูง ก็ยังไม่สามารถมีชีวิตที่สุขสบายได้ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นนายของเงิน แต่เงินต่างหากที่เป็นนายของพวกเขา และที่บอบช้ำก็คือ พวกเขายังคงทำงานโดยใช้แรงแลกเงินเรื่อย ๆ จนร่างกายทรุดโทรม ทำอย่างไรก็ไม่หลุดพ้นสักที และด้วยเหตุนี้เอง เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะให้เงินทำงานแทนเรา

สำหรับการใช้เงินทำงานนั้น หมายความว่า เราจะต้องนำเงินที่เราหาได้จากหน้าที่การงานของเราทุกสัมมาอาชีพ ไปต่อยอด เพื่อให้มีกระแสเงินสดมาให้เราอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส หรือแม้กระทั่งรายปี ซึ่งการนำไปต่อยอดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ การนำเงินไปซื้อทรัพย์สินที่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับเราได้ เช่น การนำไปซื้อหุ้น การนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ สามารถสร้างกระแสเงินสดในระหว่างที่เราถือได้

แต่ทว่า การซื้อทรัพย์สินที่ดี และสามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับเราได้เรื่อย ๆ หรือยาวนาน เราก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจ ว่าทรัพย์สินชนิดนั้น มีจุดแข็งอะไร มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง รวมทั้งราคาคุ้มค่ากับการซื้อหาหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากเราคิดจะซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า เราก็ต้องสำรวจ ว่ามีคนเช่าไหม อัตราค่าเช่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
หุ้นก็เช่นเดียวกัน ผลตอบแทนในรูปเงินปันผล นี่คือกระแสเงินสดที่ได้จากหุ้น ความคุ้มค่าเราก็ต้องพิจารณาให้ดี เพราะหุ้นบางตัวที่มีการเติบโตและยั่งยืน ช่วงแรก ๆ ราคาอาจจะแพง ปันผลอาจจะไม่มาก แต่เมื่อหุ้นนั้นเติบโตเต็มที่แล้วในอีกหลาย 10 ปี เงินปันผลอาจถึง 20%ต่อปี จากเงินลงทุนในวันนี้ก็มีนะครับ
สุดท้าย ทรัพย์สินทั้งสองอย่างนี้ต้องเหนื่อยในการพิจารณาไตร่ตรองก่อนซื้อ เอาการเลยทีเดียว
เครดิตภาพ scb.co.th,san-sabuy.com และprachachat.net
#การลงทุน #เทรนการลงทุน #เทคนิคการเล่นหุ้น