ปรับพอร์ต รอวิกฤติ

สวัสดีครับ ท่านนักลงทุนทุกท่าน  ซึ่ง ณ เวลาที่ผมเขียนอยู่นี้ ตลาดหุ้นไทยหรือ SET ได้ยืนเหนือ 1,600 จุดแล้วนะครับ ซึ่งถือว่าดีกว่าตอนก่อนมีข่าวการระบาดไวรัสโควิด 19 เสียด้วยซ้ำ โดยตอนนี้อะไร ๆ ก็ดูดีไปหมด หุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดกลาง และหุ้นขนาดเล็ก หลายตัว สร้างกำไรให้นักลงทุนค่อนข้างมาก หากนักลงทุนผู้นั้น ซื้อหุ้นในช่วงเกิดวิกฤติใหม่ ๆ

หรืออย่างช้าที่สุดก็ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 ที่ SET ร่วงลงมาที่ประมาณ 1,200 จุด และถ้านักลงทุนเหล่านี้ยังถือหุ้นที่ซื้อตั้งแต่ช่วง 900 กว่าจุดในช่วงต้นปี 63 และช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2563 ดังที่กล่าวมา ก็นับว่าเป็นอะไรที่น่ายินดี

และถือว่าเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาด… คำถามก็คือ ถ้าเราเป็นนักลงทุนที่ไม่ได้ซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมแบบนั้น แต่ก็พอมีกำไรบ้าง สถานการณ์แบบนี้ เราควรทำอย่างไร ผมมีข้อคิดที่น่าสนใจ มาเล่าให้ฟังครับ

มีเงินสดไว้บ้าง เผื่อมีวิกฤติ จะได้มีโอกาสอีกครั้ง

ผมต้องขออกตัวก่อนว่า ข้อคิดนี้ ไม่ได้เกิดจากความคิดของผมเพียงคนเดียว แต่เกิดจากความคิดของผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในตลาดหุ้นมากว่า 30 ปี โดยท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จจากตลาดหุ้น อันดับต้น ๆ ของประเทศ มีพอร์ตการลงทุนระดับหมื่นล้านบาท เขามักพูดอยู่เสมอว่าให้รอโอกาส และโอกาสที่ดีที่สุดคือช่วงวิกฤติ เพราะนั่นจะทำให้นักลงทุน มีโอกาสได้กำไรคำโต

และอีกข้อมูลหนึ่งที่กูรูท่านนี้ ได้ให้ไว้ก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าหุ้นไทยจะไปถึง 2000 จุดได้จริงรึเปล่า ซึ่งถ้าไปถึงมันก็ดี เพราะคนที่เข้ามาซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดวิ่งมาถึง 1500 จุด จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ ตรงกันข้าม

หากตลาดไปไม่ถึง โดยไปหยุดที่ 1800 จุด อย่างที่เคยทำสถิติไว้เมื่อต้น ปี 2018 ก็เท่ากับว่า โอกาสจะได้กินกำไรคำใหญ่ ๆ นั้นแทบไม่มีเลย ดังนั้น หากเราลงทุนอย่างมีสติ มีเงินสดไว้รอโอกาสที่หุ้นร่วงลงมาอย่างน้อย ๆ สัก 30% ของเงินลงทุนหุ้น ก็คงจะอุ่นใจไม่น้อย เพราะหากหุ้นมันขึ้นก็ขึ้นไป ตังที่มีก็รอโอกาสเหมาะ ๆ

สุดท้ายเรื่องราวที่ผมเล่า เป็นเพียงข้อคิด ไม่ได้แช่งให้ตลาดหุ้นแย่นะครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่า หุ้นหลาย ๆ ตัวนั้นแพงมากจริง ซึ่งถึงแม้หลายสำนักจะบอกว่าเป็นขาขึ้นและหุ้นจะขึ้นนำเศรษฐกิจจริงเสมอ…แต่ก็อย่าประมาทนะครับ…ด้วยความหวังดี… เพราะวิกฤติมักมาตอนที่ไม่ทันตั้งตัว…สวัสดีครับ

เครดิตภาพ smartsme.co.th ,promotion.co.thและtwitter.com

#การลงทุน #เทคนิคการเล่นหุ้น #ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ #หุ้น #วิกฤติ

Table of Contents