หากว่าคุณคือคนหนึ่งที่สนใจการลงทุนในหุ้น หรือแม้กระทั่งคุณมีโอกาสลงทุนในหุ้นมาสักพัก ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่ได้ศึกษาแนวทางการลงทุนมาบ้าง จากสื่อต่าง ๆ คุณก็จะสามารถแบ่งแนวการลงทุน ได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ นั่นก็คือ การลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน และการลงทุนแนวเก็งกำไร และพอได้ศึกษาแบบนี้แล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่า ต้องเริ่มลงทุนเสียที โดยตัดสินใจเลือกแนวทางที่คิดว่าใช่ที่สุดสำหรับนิสัยตัวเอง
ซึ่งถ้าสามารถเลือกแนวทางที่ใช่สำหรับตัวเองได้อย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ก็ถือว่าคุณเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมากที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะคนส่วนใหญ่ที่เข้าตลาดใหม่ ๆ มักไม่มีแนวทางที่ชัดเจน หรือมีแนวทางที่ชัดเจน แต่พอลงทุนไปลงทุนมา กลายเป็นเปลี่ยวแนวการลงทุนแบบอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว ซึ่งวันนี้ ผมมีตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง เผื่อว่าพี่น้องนักลงทุนบางท่านจะได้รู้จักตัวเองเสียที

ความเมามัน จากการซื้อ ๆ ขาย ๆ
สำหรับ เรื่องเล่าเรื่องแรก เป็นเรื่องการเลือกทางของสายนักเก็งกำไร ซึ่งรู้จักตัวเองก่อนการลงทุนว่า สามารถเฝ้าหน้าจอได้ทั้งวัน หรือแม้กระทั่ง มั่นใจในตัวเองว่า เวลาที่หุ้นขึ้น เราจะ Let profit run อย่างไร และเวลาที่หุ้นลง เราจะcut loss ที่ตรงไหน เรียกได้ว่าก่อนลงสนามจริง
ได้วางแผนมาอย่างดิบดีว่าเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนั้น แบบนี้ เราจะตัดสินใจตามแผนอย่างมีวินัย…แต่พอเอาเข้าจริง ไอ้ตอนหุ้นขึ้น ไม่มีปัญหาอะไร
แต่พอหุ้นลงนี่สิ กลับไม่ทำตามแผนที่วางไว้ เช่น ตั้ง cut loss ไว้ 8 % จากราคาล่าสุด แต่พอหุ้นลงมาถึง 8% กลับไม่cut แต่มีความคิดว่า ลงแบบนี้เดี๋ยวมันก็ขึ้น สุดท้ายพอมันลงไป 12% นอกจากไม่cut แล้ว ยังซื้อถัวเพิ่มอีก แต่หุ้นเจ้ากรรมกลับไม่ขึ้นมาตามนัด เพราะตอนคัดเลือกหุ้นตอนแรก ไม่ได้คัดเลือกจากปัจจัยพื้นฐาน แต่เป็นการคัดเลือกจากสัญญาณกราฟล้วน ๆ

แบบนี้เลยกลายร่างเป็นนักลงทุนระยะยาวแบบจำเป็น จากที่เคยเมามันกับการซื้อ ๆ ขาย ๆ ระยะหลังเริ่มไม่มัน เพราะกว่าจะรู้ตัว ก็ลงไป 30%แล้ว จึงตัดใจcut พร้อมน้ำตา

สำหรับเรื่องเล่านี้ คุณสังเกตเห็นอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนหุ้นข้างต้นบ้าง…เอาหละไม่เป็นไร ผมจะเฉลยให้ฟัง ประการแรกคือ การลงทุนแนวเก็งกำไร นั้นไม่ผิดนะครับ เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนแนวนี้แล้วประสบความสำเร็จ
ประการที่สอง การจะลงทุนแนวเก็งกำไร คุณต้องมีวินัย cut ก็คือ cut ห้ามหวัง ห้ามใช้อารมณ์ว่ามันจะขึ้นเด็ดขาด แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า ที่ชื่อว่า “VI สายคลาดเคลื่อน”
เครดิตภาพ forex.co.th ,infoquest.co.thและton4aliving.blogspot.com
#การลงทุน #เทรนการลงทุน #เทคนิคการเล่นหุ้น #หุ้น