วันนี้เรามา ไขข้อข้องใจ Leica ทำไมเป็นกล้องที่ทุกคนต้องมี และทำไมราคาสูง เป็นมากกว่าของสะสม ต้องยอมรับเลยว่าเป็นกล้องที่มีความต้องการของตลาดสูงมาก แม้แต่ตากล้องมืออาชีพทุกคนต้องมีเป็นเจ้าของ แต่ด้วยราคาที่สูงมาก เราจะมาดูกันว่าคุ้มไหมกับการลงทุน
เดี๋ยวเรามาดูเหตุผลว่าทำไม Leica เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงของโลก และเป็นกล้องเลนส์ที่ยิ่งเก่ายิ่งหายาก ยิ่งราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดนักเล่นกล้องเป็นอย่างมาก ทั้งๆที่กล้องรุ่นใหม่ออกมาก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดเช่นกัน
1. Brand Heritage และ Product Craftsmanship เป็นหัวใจความสำเร็จของ “Leica” นับตั้งแต่อดีต ถึงทุกวันนี้ เนื่องจากความเป็นตำนานกล้องคลาสสิกระดับโลกที่มีอายุร่วมร้อยปี ผนวกกับ “คุณภาพสินค้า” ที่ให้ประสิทธิภาพการใช้งานสูง และกระบวนการผลิต “Leica” ที่ยังคงยึดมั่นในแนวทาง Craftsman โดยในกล้อง 1 ตัว มีชิ้นส่วนไม่ต่ำกว่า 1,000 ชิ้น ในจำนวนนี้ กว่า 500 ชิ้นมาจากคนทำ
เช่น “เลนส์” ของ leica ขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพสูง และมูลค่าราคาที่เพิ่มขึ้นตลอด อย่างเลนส์บางรุ่น ช่วงออกใหม่ ราคาขายอยู่ที่ 35,000 บาท แต่ผ่านไปเพียง 3 ปี ราคาขึ้นมาอยู่ที่ 135,000 บาท

โดยเบื้องหลังการผลิตเลนส์ ใช้ช่างฝีมือเป็น “ผู้หญิง” เนื่องจากเลนส์เป็นชิ้นส่วนที่ต้องใช้ความละเอียดสูง และพิถีพิถัน ซึ่งผู้หญิงมีทักษะในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งในช่วงประวัติศาสตร์ Leica ร้อยกว่าปี เคยทดลองใช้ช่างฝีมือ “ผู้ชาย” ทำเลนส์มาแล้ว 3 รอบแล้ว แต่สุดท้ายแล้วต้องกลับไปใช้ผู้หญิงทำ
2. พัฒนาโปรดักต์ไลน์ ตั้งแต่หลักหมื่นบาท ถึงหลักแสนบาท เมื่อเอ่ยชื่อ “Leica” หลายคนอาจคิดว่าเป็นกล้องที่มีแต่ราคาหลักแสน แต่ปัจจุบันบริษัทแม่ที่เยอรมนีได้ขยายโปรดักต์ไลน์ให้มีความหลากหลาย ทั้งรุ่นและระดับราคา เช่น
– Leica Sofort เป็น Instant Camera โดยรูปที่ถ่ายออกมาให้อารมณ์รูปฟิล์ม ราคาจำหน่ายในไทย 11,000 บาท
– Leica D-Lux หนึ่งในสินค้าตระกูลกล้องคอมแพคของ Leica ราคา 30,000 – 40,000 บาท
– Leica TL2 ราคาประมาณ 80,000 บาท
– Leica CL ราคาประมาณ 98,000 บาท (เฉพาะ Body)
– Leica Q เป็นหนึ่งในรุ่นขายดี ราคา 165,000 บาท
– Leica SL อีกรุ่นยอดนิยม ราคา 232,400 บาท (เฉพาะ Body)
– Leica M System ถือเป็นรุ่นในตำนานและคลาสสิกของ Leica ซึ่งรุ่นปัจจุบันคือ M10 ราคา 269,800 บาท (เฉพาะ Body)
– Professional Camera ราคาประมาณ 700,000 บาท
การมีกล้องรุ่น Entry Level อย่างรุ่น Sofort ทำให้ Leica ขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะด้วยระดับราคาที่เข้าถึงได้ และเป็นการเปิดประสบการณ์การใช้กล้อง Leica ให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ซึ่งในที่สุดแล้วเมื่อเขาติดใจในแบรนด์ คุณภาพกล้อง และการใช้งาน ต่อไปผู้บริโภคกลุ่มนี้จะ Trade up ซื้อกล้องรุ่นอื่นๆ ของ Leica

3. เป็น Niche Market ที่มี Brand Loyalty สูง ในขณะที่กล้องยี่ห้ออื่นๆ เน้นการผลิตมหาศาล และเจาะตลาดแมส แต่สำหรับ “Leica” ตรงกันข้าม ไม่ได้เน้นผลิตปริมาณมหาศาล เพื่อ push เข้าสู่ตลาด แต่ยังคงเน้น Craftmanship โดย Distributor ในแต่ละประเทศ ต้องคาดการณ์ยอดสั่งสินค้าเพื่อนำไปจำหน่าย โดยประเมินจากประวัติยอดขายที่ผ่านมา เพื่อส่งยอดสั่งสินค้าไปยัง Leica เยอรมนี
ประกอบกับราคาจำหน่าย จัดอยู่ในระดับ “ซูเปอร์พรีเมียม” ทำให้ฐานลูกค้ากล้อง “Leica” เป็น Niche Market แต่เป็นกลุ่มที่มี Brand Loyalty สูง ยิ่งในกลุ่มนักสะสม ไม่ใช่แค่ความภักดีในแบรนด์ แต่คือ ความรักและความผูกพันที่มีต่อแบรนด์
4. พันธมิตรธุรกิจ สร้างชื่อ “Leica” ให้รู้จักในวงกว้าง แต่ก่อนคนที่รู้จัก “Leica” จะอยู่ในกลุ่มนักสะสม ช่างภาพ และคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ ขณะที่ปัจจุบัน “Leica” เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง เนื่องจากการใช้กลยุทธ์ Partnership Model อย่างที่เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาคือ การผนึกกำลังกับ “Huawei” ร่วมกันพัฒนากล้องตระกูล P Series และ Mate Series
ทำให้ยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์ “Huawei” ให้มีภาพความเป็น Global Brand และ Innovation ขณะเดียวกันฝั่ง “Leica” แบรนด์เป็นที่รับรู้มากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และสร้าง Engagement ผ่านสมาร์ทโฟนที่คนพกติดตัวไปไหนมาไหนตลอด โดยหลายคนที่ใช้สมาร์ทโฟน Huawei สองรุ่นนี้ ก็จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ Leica ด้วยเช่นกัน จึงเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับกล้อง Leica ที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่

5. พลัง Word of Mouth สร้างสาวกแบรนด์ “Leica” เป็นแบรนด์ที่ไม่ได้สื่อสารการตลาดมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้มีสาวกแบรนด์ และขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ คือ พลังการบอกต่อ หรือ Word of mouth จากผู้ใช้จริง ลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็น Brand Ambassador ตัวจริง ในการบอกเล่าเรื่องราว และคุณสมบัติของสินค้าผ่านรูปถ่ายของตนเอง ยิ่งในยุค Social Media คนถ่ายรูปนำผลงานของตนเองโพสต์ เพื่อบ่งบอกรูปถ่ายที่สะท้อนเอกลักษณ์ หรือสไตล์ของตัวเอง
ตลาด “Leica” ในไทย เดิมที DKSH เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย โดยกระจายไปยังดีลเลอร์ร้านกล้องต่างๆ กระทั่งในปี 2559 ได้เปลี่ยนผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายมาเป็น “บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด” โดยเปิดช้อปที่ศูนย์การค้าเกษร พร้อมทั้งกระจายสินค้าให้กับดีลเลอร์ต่างๆ
เมื่อเข้ามาเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย “เอลิส ไพรเวต” ได้คุยกับ Leica บริษัทแม่ที่เยอรมนีในเรื่อง “ราคาขาย” ที่ไม่ต้องการให้มีความแตกต่างด้านราคาระหว่างประเทศ ทำให้ปัจจุบันราคาขายของ Leica แต่ละประเทศทั่วโลกไม่ต่างกัน โดยคิดคำนวณค่าเงิน ณ วันที่ตั้งราคา